เมื่อพูดถึงสงครามโลกครั้งที่สอง คนส่วนใหญ่มักนึกถึงการสู้รบในสนามรบ รถถัง เครื่องบิน และกลยุทธ์ทางทหาร แต่เบื้องหลังชัยชนะของฝ่ายสัมพันธมิตร มีอีกหนึ่งสมรภูมิที่สำคัญไม่แพ้กัน นั่นคือ “สงครามรหัสลับ” และหนึ่งในบุคคลที่มีบทบาทสำคัญที่สุดในศึกนี้ก็คือ อลัน ทัวริง (Alan Turing) นักคณิตศาสตร์และนักตรรกศาสตร์ ปูชนียบุคคลผู้เป็นบิดาแห่งคอมพิวเตอร์
ในช่วงสงคราม กองทัพนาซีเยอรมันใช้เครื่องเข้ารหัสที่เรียกว่า เอนิกมา (Enigma) เพื่อส่งข้อความลับทางทหาร รหัสของเครื่องนี้ซับซ้อนมากจนแทบไม่มีใครสามารถถอดรหัสได้ เพราะการถอดรหัสจากเครื่องเอนิกมา คนถอดต้องมีโค้ดรหัสสำหรับการเซตรหัสที่ถูกต้อง โดยวิธีการเซตทั้งหมดมีมากถึง 159 ล้านล้านรูปแบบเลยทีเดียวฝ่ายสัมพันธมิตรจึงต้องหาทางไขปริศนานี้ให้ได้ เพราะหากสามารถอ่านข้อความที่เยอรมันส่งถึงกัน พวกเขาจะรู้ความเคลื่อนไหวของศัตรูล่วงหน้า และนั่นจะนำมาสู่ชัยชนะของฝ่ายสัมพันธมิตร
อลัน ทัวริงและนักวิทยาศาสตร์หัวกะทิจากทั่วเกาะอังกฤษ จึงถูกดึงเข้ามาอยู่ในโครงการ Bletchley Park ซึ่งเป็นศูนย์ถอดรหัสและโครงการสุดลับของรัฐบาลอังกฤษ จนกระทั่งในปี 1940 อลันก็ได้พัฒนาเครื่องจักรที่สามารถถอดรหัสเอนิกมาได้สำเร็จ เครื่องนี้มีชื่อว่า "Bombe"
เครื่องถอดรหัส Bombe สามารถถอดรหัสข้อความลับของกองทัพเยอรมนีได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยเครื่องดังกล่าวสามารถถอดรหัสได้มากถึง 84,000 ข้อความต่อเดือน หรือเฉลี่ยประมาณ 2 ข้อความต่อนาที ความสำเร็จนี้ทำให้ฝ่ายสัมพันธมิตรสามารถล่วงรู้แผนการและกลยุทธ์ของเยอรมนีได้อย่างทันท่วงที ส่งผลให้สามารถวางแผนรับมือและป้องกันการโจมตีทางอากาศของกองทัพอากาศเยอรมันได้อย่างมีประสิทธิภาพ และมีการประเมินว่าการถอดรหัสเอนิกมาอาจช่วยให้สงครามยุติเร็วขึ้นถึง 2 ปี
หลังสงคราม ทัวริงไม่ได้หยุดเพียงแค่การถอดรหัส แต่เขายังมุ่งมั่นพัฒนาทฤษฎีเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ โดยในปี 1936 ก่อนสงคราม เขาได้เสนอแนวคิด "เครื่องจักรทัวริง (Turing Machine)" ซึ่งเป็นโมเดลเชิงทฤษฎีของคอมพิวเตอร์ที่สามารถคำนวณทุกสิ่งที่สามารถคำนวณได้ นี่ถือเป็นแนวคิดพื้นฐานของวิทยาการคอมพิวเตอร์
ต่อมา ทัวริงมีบทบาทสำคัญในการพัฒนา Automatic Computing Engine (ACE) ซึ่งเป็นหนึ่งในคอมพิวเตอร์อิเล็กทรอนิกส์เครื่องแรกของโลก นอกจากนี้ เขายังเสนอแนวคิดเกี่ยวกับปัญญาประดิษฐ์ (AI) และออกแบบ "Turing Test" ซึ่งเป็นแนวคิดในการวัดความสามารถของเครื่องจักรว่ามีความคิดเหมือนมนุษย์หรือไม่
แม้อลัน ทัวริงจะจากโลกนี้ไปอย่างน่าเศร้าในปี 1954 แต่มรดกของเขายังคงมีอิทธิพลอย่างมหาศาล ทุกวันนี้ ภาษาคอมพิวเตอร์ทุกภาษามีรากฐานจากแนวคิดของเขา ไม่ว่าจะเป็น Python, Java, C++ หรือแม้แต่ AI และ Machine Learning ก็ยังใช้แนวคิดของทัวริง
ในปี 2013 รัฐบาลอังกฤษได้ประกาศอภัยโทษแก่ทัวริง และในปี 2021 ภาพของเขาถูกนำขึ้นบนธนบัตร 50 ปอนด์ของอังกฤษ เป็นการยกย่องอัจฉริยะผู้เปลี่ยนโลกไปตลอดกาล
จากสงครามโลกสู่ยุคดิจิทัล อลัน ทัวริง ไม่ได้เป็นเพียงนักคณิตศาสตร์หรือวิศวกร แต่เป็นผู้บุกเบิกแนวคิดที่ทำให้คอมพิวเตอร์และภาษาคอมพิวเตอร์เป็นจริงขึ้นมาได้ หากไม่มีเขา โลกของเราทุกวันนี้อาจแตกต่างไปอย่างสิ้นเชิง และการปฏิวัติดิจิทัลที่เราใช้กันทุกวันก็อาจไม่มีอยู่เลย